Begin with the end in mind
เริ่มต้นจากเป้าหมายสูงสุด
คุณเคยได้ยินประโยคว่า “Begin with the end in mind” ไหมครับ? ผมเห็นประโยคนี้ครั้งแรกจากในหนังสือ Seven Habits of Highly Effective People ของ Dr. Stephen R. Covey เป็นหัวข้อที่น่าสนใจ และอยากนำมาแบ่งปันครับ
ในทุกวันนี้หากเรารู้สึกขาดการเติมเต็มจากสิ่งที่ทำ หนึ่งในสาเหตุนั้นมาจากการไม่มีความต้องการในชีวิตที่ชัดเจน การเริ่มต้นจากจุดสุดท้ายหรือการมีเป้าหมายชีวิตที่ชัดเจนจะทำให้เราใช้ชีวิตอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น โดย Dr. Stephen R. Covey กล่าวว่าทุกสิ่งถูกสร้างขึ้นสองครั้ง ครั้งแรกในความคิด ครั้งที่สองในโลกความเป็นจริง โดยสรุป Begin with the end in mind คือการเห็นสิ่งที่เราต้องการสุดท้ายอย่างชัดเจนจนเกิด Strong Why เมื่อเรามี ‘ทำไม’ ที่แข็งแรง คำว่า ‘อย่างไร’ จะง่ายขึ้น อีกทั้งยังสร้างแรงจูงใจเพื่อเราจะได้วิ่งเข้าสู่เป้าหมายที่ให้ความหมายกับชีวิตเราอย่างแท้จริง
วิธีการคือเริ่มจากถามตนเองว่าเป้าหมายสูงสุดของสิ่งที่เราต้องการคืออะไร จะเกิดขึ้นเมื่อไหร่ จะทำอย่างไร ยิ่งลงรายละเอียดมาก เป้าหมายของเราก็ยิ่งมีความเป็นไปได้มาก ขั้นตอนมีดังนี้
1. ตั้งเป้าหมาย
จำกัดความสิ่งที่เราต้องการในชีวิตว่าคืออะไรในแต่ละด้าน โดยเริ่มต้นจาก การเงิน การงาน อารมณ์ ความสัมพันธ์ สุขภาพ Harvard Business School เคยทำงานวิจัยเกี่ยวกับการตั้งเป้าหมายในปี 1979 โดยทำการตั้งคำถามกับนักเรียนที่จบในปีนั้นว่าพวกเขาได้กำหนดเป้าหมายและเขียนเป็นแผนงานหรือไม่ ผลคือ
- 84% ไม่มีเป้าหมาย
- 13% มีเป้าหมาย แต่ไม่มีแผนการที่ชัดเจน
- 3% มีเป้าหมายและมีแผนงานที่ชัดเจน
ในอีก 10 ปีต่อมา กลุ่มคน 13% ที่มีเป้าหมายแต่ไม่มีแผนที่ชัดเจนทำเงินได้มากกว่า 2 เท่าของกลุ่ม 84% ที่ไม่ได้ตั้งเป้าหมาย และกลุ่มคน 3% ที่มีเป้าหมายกับมีแผนงานที่ชัดเจน ทำเงินได้ถึง 10 เท่าของ 97% ที่เหลือ แน่นอนว่าเรื่องเงินอาจไม่ใช่ปัจจัยเดียวที่บ่งบอกว่าเราประสบความสำเร็จแต่ก็เป็นตัวชี้วัดหนึ่งที่บอกเราได้ว่าการตั้งเป้าหมายนั้นสำคัญ
2. มองว่าตอนนี้เราอยู่จุดไหนอย่างตรงไปตรงมา
การมองว่าเราอยู่จุดไหนของเป้าหมายสำคัญมาก สมมติว่าเรามีแผนที่ที่ละเอียดที่สุดอยู่ในมือ เรามีจุดหมายว่าเราจะไปไหนแต่เราไม่ทราบว่าเราอยู่ตรงไหนของแผนที่ก็เท่ากับว่าเราจะไปถึงได้ยากขึ้นนั่นเอง ในหลายสถาบันภาษาจะใช้วิธีการวัดระดับภาษาก่อนเพื่อให้คอร์สเรียนเบื้องต้นที่เหมาะสม หรือแม้กระทั่งการยอมรับในจุดอ่อนของตนเองและเริ่มแก้ไขอย่างจริงจัง เป็นต้น
3. วางแผนเส้นทาง
ระบุแผนงานออกมาโดยแบ่งออกเป็นเป้าหมายย่อยจากนั้นพิจารณาไปทีละขั้นตอน การทำแบบนี้จะทำให้เรามีการจดจ่อกับสิ่งที่เราเริ่มได้เลย
4. เขียนทุกอย่างลงกระดาษ (หรือบันทึกลงใน platform ที่เราต้องการ)
การเขียนหรือพิมพ์เป็นลายลักษณ์อักษรจะทำให้เราได้ทบทวนแผนการว่าทำไมเราถึงต้องการมัน ในหนังสือยังพูดถึงการเขียนมันลงเป็น Personal Mission Statement โดยโฟกัสไปที่ 3 สิ่งคือคือตัวตน (Character) เราอยากมีคาแรคเตอร์แบบใด, ผลงาน (Contribution) เราอยากทำอะไร, ความสำเร็จ (Achievements) อะไรคือคุณค่าที่เรายึดถือและจะสอดคล้องกับตัวตน ความสำเร็จของเราอย่างไร ผู้อ่านสามารถอ่านสามารถค้นหารายละเอียดการเขียน Personal Mission Statement เพิ่มเติมได้โดยผมจะยังไม่ลงลึกในส่วนนี้
5. ตัดสินใจลงมือทำ
ข้อนี้คือข้อที่คนมักตกม้าตายกัน สี่ข้อก่อนหน้านี้จะหมดความหมายทันทีหากปราศจากการลงมือทำอย่างต่อเนื่อง ความคิดจะเป็นตัวกำหนดความต้องการ แต่การลงมือทำจะกำหนดสิ่งที่เราได้รับ
“A real decision is measured by the fact that you’ve taken a new action. If there’s no action, you haven’t truly decided.”
– Tony Robbins
เราสามารถนำมาปรับใช้ได้กับทุกด้านของชีวิต การงาน การเงิน สุขภาพ ความสัมพันธ์ หรือโปรเจกต์ที่เราอยากทำให้ลุล่วงตัวอย่างเช่น สมมติว่าเป้าหมายท้ายสุดในการวิ่งออกกำลังกายคือ เห็นตนเองวิ่งเข้าเส้นชัยมาราธอนในอีก 10 เดือนข้างหน้า จากนั้นเริ่มลงรายละเอียดถึงตารางการฝึกซ้อมรายเดือน เรามีต้นทุนทางร่างกายเท่าไหร่ จัดสรรเวลาในการวิ่งกี่วันต่อสัปดาห์ แต่ละวันจะฝึกซ้อมอย่างไรบ้าง (อาจจะถามจากคนที่ทำได้แล้ว) ตัวอย่างในเรื่องการงานเช่น เราอยากเพิ่มยอดขายให้กับธุรกิจของเราเป็นสองเท่าภายใน 2 ปี จะทำอย่างไร ธุรกิจของเราอยู่จุดไหน เราจะเพิ่มกลยุทธ์อะไรลงไป จากนั้นเริ่มลงแผนงาน ซอยเป้าหมายออกมาเป็นรายเดือน ไปจนถึงรายวัน มีการวัดผลเป็นระยะๆ เป็นต้น
นอกจากนี้การสร้าง Begin with the end in mind ยังสามารถใช้เป็นการมองภาพรวมของชีวิตได้อีกด้วยตัวอย่างเช่น การเห็นภาพตนเองในบั้นปลายของชีวิต ผู้เขียนให้เทคนิคคือ จินตนาการว่าหากวันนี้เรายืนอยู่ในงานศพของตนเอง ยืนครุ่นคิด reflect ถึงชีวิตที่ผ่านมา จะมีใครมาร่วมงานบ้าง พวกเขาจะพูดถึงเราอย่างไรในแง่มุมต่างๆ และเราจะฝากอะไรไว้กับโลกนี้ ยิ่งมีรายละเอียดมากยิ่งดี ให้เรามองภาพนั้นเป็นภารกิจของชีวิต
Begin with the end in mind คือหลักการมองไปถึงจุดหมายสุดท้าย จากนั้นเปลี่ยนเป้าหมายเป็นแผนงาน และยังลงลึกไปถึงเรื่องของการค้นหาคุณค่าของเราในแต่ละด้าน หวังว่าผู้อ่านจะลองนำหลักการ Begin with the end in mind นี้ไปปรับใช้กับชีวิตและประสบความสำเร็จตามที่ต้องการ
วันนี้คุณมีจุดหมายในใจแล้วหรือยัง?
ผู้เขียน:
OhmAllStar – Software Developer
References:
0 Comments